"ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่เจ้า"

เทศกาลยี่เป็ง

            
 เทศกาลยี่เป็ง เป็นเทศกาลใหญ่ เรียกการลอยกระทงว่า ลอยโขมด หรือ ลอยไฟ คำว่า ยี่เป็งหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ในระยะหลังมีคำว่าลอยสะเปา ซึ่งหมายถึงการลอยสำเภา อันเป็นการลอยกระทงขนาดใหญ่ในงานประกวดกระทง การบูชาในพิธีลอยกระทงมี 2 อย่างคือ การลอยกระทงและการตามประทีป แต่ละบ้านจะตกแต่งบ้านด้วยโคมไฟหลากสี เรียกว่า กมผัดหมายถึงโคมที่หมุนไปมาได้มีการจุด ผางพะตี้บในบ้านและรอบๆบ้าน มีการจุดโคมลอยในเวลากลางวันและโคมไฟในเวลาค่ำคืน แล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นการบูชาพระจุฬามณี บนสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการจุดดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ
การลอยกระทงความหมายคือ
1. การลอยเพื่อ บูชาท้าวพกาพรหม
2. การลอยเพื่อ ลอยเคราะห์ลอยบาป
3. การลอยเพื่อ ส่งสิ่งของ
4. การลอยเพื่อ บูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
5. การลอยเพื่อ บูชาอุบคุดด์เถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

ประเพณีลอยกระทงทางภาคเหนือเรียก ประเพณียี่เป็ง ตรงกับเดือนยี่ ขึ้น 1415 ค่ำ ประเพณีลอยกระทงทางภาคเหนือนี้ ตามหนังสือพงสาวดารโยนก และหนังสือ จามเทวีวงศ์ กล่าวสอดคล้องเหมือนกันว่า  เมื่อจุลศักราชได้ 309 (พ.ศ. 1490) พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัยสมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดขึ้น ที่ตำนานเรียกว่า โรคหิว หรือ โรคห่า หรือ โรคอหิวาตกโรค ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บางพวกที่มีชีวิตอยู่เห็นว่าถ้าอยู่ต่อไปต้องตายแน่ จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมือง สุธรรมวดี คือเมืองสะเทิม ประเทศรามัญ หรือ มอญ ต่อมาพระเจ้าพุกาม กษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม ได้เก็บเอากุลธิดาของชาวเมืองไปเป็นบาทบริจาริกาเป็นจำนวนมาก
เมื่อเบื่อหน่ายก็ทอดทิ้งไม่ชุบเลี้ยงเหมือนดั่งก่อน พวกชาวเมืองหริภุญชัยก็อพยพหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความอนุเคราะห์ ชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี หลังจากที่อาศัยอยู่ไม่นาน ชาวเมืองได้ทราบข่าวว่าโรคระบาดทางนคร หริภุญชัยสงบแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็พากันกลับมายังนครหริภุญชัยอีกครั้ง บางคนต่างก็แต่งงานมีครอบครัวก็ไม่กลับมายังนครหริภุญชัย
ยังคงอยู่ที่เดิม ในเมืองหงสา ครั้นถึงเดือนยี่เป็ง ที่ครบรอบที่ได้จากพี่น้องทางเมืองหงสามา ก็ได้จัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการะ บูชา อาหาร เสื้อผ้า วัตถุข้าวของ ใส่ในแพไหลล่องลอยตามแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงยังญาติพี่น้อง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะล่องลอยไปถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาอันไกลโพ้น  การกระทำพิธีดังกล่าวเรียกกันว่า ลอยโขมด หรือลอยไฟ และถือเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (การลอยกระทงนั้นในสมัยอาณาจักรล้านนาโบราณเรียกว่า ลอยโขมด คำว่าโขมดเป็นชื่อผีป่า เรียกกันว่าผีโขมด ชอบออกหากินเวลากลางคืน จะมีพะเนียงแสงไฟเห็นเป็นระยะคล้ายผีกระสือ ดังนั้น กระทงที่จุดเทียนลอยน้ำแสงไฟจะกระทบกับน้ำทำให้ เงาเกิดขึ้นสะท้อนวับๆแวมๆ จะเหมือนแสงไฟของผีโขมด ดังนั้นทางล้านนาโบราณ จึงเรียกการลอยกระทงว่า ลอยโขมด” )

ในสมัยอาณาจักรล้านนาไท พุทธศักราชได้ 2061 ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) แห่งราชวงศ์มังราย เทศกาลเดือนยี่เป็งเป็นประเพณี ที่ยิ่งใหญ่มาก อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันไปบูชาพระเจ้าในอารามข่วงแก้วทั้งหลาย มากมายไปด้วยผู้คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ รื่นเริงม่วนเล่นมหรสพสมโภชคึกครื้น เป็นที่พึงพอใจอย่างยิ่ง ดังโคลงนิราศหริภุญชัยกล่าวไว้ถึงเดือนยี่เป็ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึง กวีในสมัยนั้นมีความนิยมชมชอบจึงได้นำมาสอดแทรกไว้ในนิราศของตน 
ประเพณีเดือนยี่เป็ง มาถึงพอเริ่มขึ้น 1 ค่ำ เดือนยี่ ทุกวัดวาอารามจะจัดเตรียมสถานที่ในวัดปัดกวาดพระวิหารศาลาให้สะอาด และจัดเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้
1. ทำราชวัตร รอบวิหาร เจดีย์ ทำซุ้มประตูป่าทางเข้าวัด
2. ทำโคมแขวน โคมค้าง โคมรูปต่างๆ
3. ทำว่าว หรือ โคมลอย ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ชนิดคือ
    3.1 โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวันจะเรียกว่า ว่าว โดยใช้วิธีรมควัน     3.2 โคมปล่อยตอนกลางคืนใช้วิธีรมควันเหมือนว่าวที่ปล่อยกลางวัน แต่จะจุดไฟที่ท่อนผ้าผูกติดกับปากโคมลอยปล่อยสู่อากาศ โคมจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยในเวหา
4. การทำบอกไฟ ( บั้งไฟ ) ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟเทียน บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจั๊กจั่น บอกไฟท้องตั๋น บอกไฟขี้หนู ทำขึ้นเพื่อ จุดในวันยี่เป็ง มีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอย ทำว่าวไว้ด้วยว่า หากคนใดทำจะมีอานิสงส์ 1 กากณึก (ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกานำไปได้ เป็นชื่อมาตราเงินต่ำที่สุด) การปล่อยโคมลอย ว่าว จุดบอกไฟนั้นเป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกประการหนึ่งด้วย